ทิศทางเศรษฐกิจโลกปี 2565 เงินเฟ้อสูง เศรษฐกิจตกต่ำ

เศรษฐกิจโลกและไทยในช่วงครึ่งปีที่เหลืออยู่ของปี 2565 จะเป็นอย่างไร นักวิชาการจำนวนไม่น้อยมองผลกระทบของปัจจัยลบต่างๆ ยังคงพ่นพิษร้ายฉุดเศรษฐกิจตกต่ำ วิกฤตเงินเฟ้อ สินค้าราคาแพงต่อเนื่อง ถ้าสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้นเป็นไปได้ว่าปีหน้านานาประเทศจะเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เมื่อมองอนาคตเศรษฐกิจโลก ผลกระทบจากสงครามรัสเซียและยูเครนทำให้ชาติตะวันตกร่วมมือกันคว่ำบาตรกดดันรัสเซีย ส่งผลให้เกิดวิกฤตด้านพลังงาน อาหาร และเงินเฟ้อสูง ประชาชนต้องจ่ายค่าครองชีพแพงขึ้นและไม่มีเงินไปจับจ่ายใช้สอยอย่างเพียงพอเป็นผลให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงอีก ภาระหนี้สินของประชาชนสูงขึ้น เมื่อเงินขาดมืออาจเกิดการผิดนัดชำระหนี้เพิ่มขึ้นซึ่งวิกฤตขาดสภาพคล่องนั้นเสี่ยงนำไปสู่ภาวะล้มละลายของธุรกิจในวงกว้าง

ช่วงกลางปี 2565 ธนาคารกลางสหรัฐปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.75% เพื่อสกัดการพุ่งขึ้นของเงินเฟ้อทำให้ประเทศอื่นๆ ต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยตามไปในทิศทางเดียวกัน เช่น แบงก์ชาติอังกฤษปรับดอกเบี้ย 0.25% สู่อัตราดอกเบี้ย 1.25% ถือว่าสูงสุดในรอบ 13 ปี เป้าหมายคือควบคุมเงินเฟ้อที่สูงถึง 9% ในเดือนเมษายน แตะระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี เป็นผลจากสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนทำให้เกิดวิกฤตด้านพลังงานและอาหาร เกิดปัญหาขาดแคลนธัญพืช เช่น ข้าวสาลี ข้าวโพด ถั่วเหลือง เมล็ดทานตะวัน

เห็นได้ว่านโยบายการเงินของสหรัฐและไทยแตกต่างกันชัดเจน หลังจากที่สหรัฐปรับขึ้นดอกเบี้ยหลายครั้งในปีนี้ ทางประเทศไทยยังไม่ปรับเพิ่มดอกเบี้ย แต่ไทยเราพึ่งพาการนำเข้าน้ำมัน ราคาน้ำมันทำให้ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเพิ่มขึ้น และกดดันเงินบาทให้อ่อนค่า รายได้จากการท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นตัว ส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัวมากขึ้นและภาวะเงินเฟ้อสูง ประชาชนที่มีรายได้น้อยลดการจับจ่ายใช้สอย ซื้อเฉพาะสิ่งของจำเป็น ส่วนยอดซื้อสินค้าอื่น ๆ เช่น เสื้อผ้า รถยนต์ บ้าน จะลดลง ปัญหาจะรุนแรงยิ่งขึ้นในปีหน้า ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำไม่เพียงกระทบต่อผู้มีรายได้น้อยในสังคมเท่านั้น ยังจะลุกลามสู่การใช้ชีวิตของชนชั้นกลางอีกด้วย

การชะลอตัวทางเศรษฐกิจทั่วโลกทำให้ประเทศไทยส่งออกได้น้อยลง ธุรกิจขนาดใหญ่อาจได้รับผลกระทบทำให้หนี้สูงขึ้น ประสบปัญหาการเงินในอนาคตและเสี่ยงเข้าสู่ภาวะล้มละลาย กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีนี้คาดว่าจะเติบโต 4.1% ลดลงจาก 4.5% ส่วนคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกจะเติบโตประมาณ 4.4% ลดลงจากระดับ 4.9% ขณะที่เศรษฐกิจของประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐ จีน และยุโรปมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีระดับหนึ่ง แม้จะไม่แข็งแกร่งเหมือนเคย เพราะทาง IMF ได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศใหญ่เช่นเดียวกัน

ปัจจัยลบที่ยังคงต้องจับตามองในช่วงปลายปีนี้คือสถานการณ์ของโควิด-19 จะดีขึ้นมาน้อยแค่ไหน ภาวะเงินเฟ้อสูงที่ทำให้กำลังซื้อของประชาชนลดลง ธุรกิจน้อยใหญ่ขาดสภาพคล่อง และผลกระทบจากสงครามของรัสเซียที่ผลักดันราคาน้ำมันแพงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ราคาสินค้าและอาหารแพงคงจะไม่แก้ไขได้ง่ายๆ

ทิศทางเศรษฐกิจโลกปี 2565 เงินเฟ้อสูง เศรษฐกิจตกต่ำ