ผลกระทบความไม่เท่าเทียมของวัคซีน ทำเศรษฐกิจโลกเสียหายหนัก

อาจกล่าวได้ว่า นอกเหนือจากมาตรการต่าง ๆ ที่ออกมาเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาหรือ โควิด-2019 แล้ว วัคซีนก็เป็นอีกความหวังหนึ่งที่จะสามารถหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 ได้โดยไม่ก่อให้เกิดความบอบช้ำทางด้านเศรษฐกิจโลกให้มากไปกว่านี้ แต่ปรากฏว่าความไม่เท่าเทียมกันของการได้รับวัคซีนของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก กลับทำให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจหนักหนายิ่งขึ้น

ความไม่เท่าเทียมกันของวัคซีน ได้แก่ การที่ประเทศร่ำรวยหลายประเทศได้สั่งซื้อวัคซีนไปเป็นจำนวนมากตั้งแต่ล็อตแรก ๆ และได้ฉีดวัคซีนให้ประชากรของตนเองไปเกินครึ่งแล้ว ในขณะที่ประเทศยากจนอีกมากมาย ยังคงต้องรอรับวัคซีนจากความช่วยเหลือขององค์การอนามัยโลกและวัคซีนเหลือใช้ของประเทศร่ำรวย ซ้ำยังได้น้อยไม่เพียงพอกับประชากรของตัวเอง

ทั้งนี้วัคซีนกว่า 50 % ถูกจองโดยประเทศที่มีรายได้สูง ซึ่งมีประชากรเพียง 16% ของประชากรทั่วโลก หลายประเทศทำการจองวัคซีนไว้มากกว่าจำนวนประชากรของตนเองเสียอีก ไม่ว่าจะเป็นแคนาดา จองวัคซีนไว้ 9.2 เท่าของประชากร สหราชอาณาจักร 6.1 เท่าของประชากร ออสเตรเลีย 4.9 เท่าของประชากร นิวซีแลนด์ 4.4 เท่าของประชากร และสหรัฐอเมริกา 4.3 เท่าของประชากร เป็นต้น

โดยในช่วงต้นปีที่ผ่านมาทั่วโลกมีการฉีดวัคซีน COVID-19 แล้วกว่า 200 ล้านโดส โดยสหรัฐฯ มีการให้วัคซีนมากที่สุด 55.2 ล้านโดส ลำดับสองได้แก่จีน 40.5 ล้านโดส และลำดับสามได้แก่ อิสราเอล ซึ่งฉีดวัคซีนแล้วประมาณ 80% ของประชากร ในขณะที่ประเทศยากจนอย่างแอฟริกาซึ่งประชาชนของประเทศรายได้ต่ำ มีสัดส่วนการได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็มเพียง 1.1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น (ข้อมูลเมื่อ กรกฎาคม 2021) นอกจากนี้ ข่าวการออกมาประณามประเทศที่กักตุนวัคซีนและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ขององค์การอนามัยโลก (WHO) ยิ่งตอกย้ำให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงวัคซีนของประเทศยากจนและประเทศที่กำลังพัฒนาทั้งหลาย ปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นกระจกสะท้อนความเหลื่อมล้ำของคนรวยและคนจนได้เป็นอย่างดี ซึ่งความไม่เท่าเทียมในเรื่องของวัคซีนดังกล่าว นอกจากจะทำให้มีผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตเพิ่มมากขึ้นแล้ว ยังส่งผลกระทบด้านเศรษฐกิจโลกอีกด้วย

ทั้งนี้ ได้มีหลายองค์กรออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับผลกระทบของการระบาดของโรคโควิด-19 และความไม่เท่าเทียมของวัคซีนต่อเศรษฐกิจโลก เช่น ออกซ์แฟม องค์กรไม่แสวงผลกำไร เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเท่าเทียมในสังคมโลก กล่าวว่า มหาเศรษฐีในโลกประมาณ 1,000 คน ใช้ระยะเวลาไม่ถึง 10 เดือนในการฟื้นตัวให้กลับมามีรายได้เท่าเดิมก่อนจะสูญเสียไปในช่วงโควิด-19 ในขณะที่คนยากจนอาจจะต้องใช้เวลาเป็นสิบปีกว่าจะฟื้นให้กลับมาลืมตาอ้าปากได้เหมือนเดิม หรืออีโคโนมิสต์ อินเทลเลเจนซ์ ยูนิต (EIU) ก็ได้กล่าวถึงการได้รับวัคซีนว่า หากแต่ละประเทศไม่สามารถฉีดวัคซีนได้ถึง 60% ของประชากร ภายในครึ่งปีหน้าอาจจะทำให้โลกสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจมูลค่านับหลายล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจอย่างกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ก็ได้กล่าวถึงกรณีเดียวกันนี้ว่า วิกฤตโควิด-19 จะทำให้คนจนจะยิ่งจนลงไปอีก และเหตุการณ์ความไม่สงบทางสังคมและความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์จะยิ่งยกระดับสูงขึ้นต่อเนื่อง เช่นเดียวกับผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจอีกหลายคนก็ได้ออกมาแสดงความกังวลต่อการจำกัดการเดินทางและนโยบายการรับรองเอกสารการฉีดวัคซีนซึ่งเป็นมาตรการที่หลายประเทศใช้เป็นมาตรการยับยั้งการแพร่ระบาดของโควิด -19 ก็จะยิ่งทำให้ระดับความเสียหายทางเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางและรายได้ต่ำเพิ่มความรุนแรงมากขึ้น

การฟื้นฟูเยียวยาเศรษฐกิจโลกให้ฟื้นคืนกลับมาให้เป็นเหมือนก่อนโควิด-19 ทำได้หลายวิธี แต่วิธีหนึ่งซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญก็คือ ต้องกระจายความเท่าเทียมในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะวัคซีน ประเทศร่ำรวยต้องเลิกเห็นแก่ตัว แบ่งปันวัคซีนไปให้กับประเทศยากจน ไม่เช่นนั้นก็จะเกิดผลย้อนกลับเหมือนที่หลาย ๆ ประเทศกำลังประสบอยู่ อีกทั้งรัฐบาลของทุกประเทศก็ต้องดูแลให้ทุกคนเข้าถึงวัคซีนและเงินช่วยเหลือเยียวยา ไม่เฉพาะแค่ผู้มีสิทธิพิเศษเพียงบางกลุ่มเท่านั้น

ผลกระทบความไม่เท่าเทียมของวัคซีน ทำเศรษฐกิจโลกเสียหายหนัก