จับตาเศรษฐกิจโลกในยุคที่ จีน - รัสเซีย - ยูเครน เป็นตัวแปรในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

หากพูดถึงประเทศมหาอำนาจในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก เชื่อว่าชื่อประเทศที่หลายคนนึกขึ้นมาเป็นอันดับต้น ๆ จะต้องนึกถึงจีนและสหรัฐอเมริกาที่เป็นประเทศมหาอำนาจอันเป็นตัวแปรสำคัญในการกำหนดทิศทางเศรษฐกิจโลก แต่สำหรับ ค.ศ. 2022 แม้ว่าสหรัฐอเมริกาจะยังเป็นประเทศมหาอำนาจ แต่ตัวแปรสำคัญที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกกลับกลายเป็น จีน รัสเซีย และยูเครน นั่นเพราะทั้ง 3 ดินแดนเกิดเหตุการณ์สำคัญจนส่งผลให้เศรษฐกิจโลกสั่นคลอนไปด้วย

แม้ภาพรวมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะหลายประเทศได้เปิดประเทศเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวอีกครั้ง แต่ถึงอย่างนั้นประเทศยักษ์ใหญ่อย่างจีนกลับยังไม่เปิดประเทศเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวตามมาตรการ Covid – 19 เป็นศูนย์ หรือมาตรการควบคุมการเข้าออกประเทศอย่างเข้มข้น รวมถึงการล็อกดาวน์บางเมืองเพื่อลดโอกาสการแพร่เชื้อ ซึ่งในปี 2022 ได้มีการปิดเมืองเศรษฐกิจสำคัญอย่างเซี่ยงไฮ้และปักกิ่ง กิจกรรมทางเศรษฐกิจจึงชะงัก ส่งผลให้ช่วงครึ่งปีแรกเศรษฐกิจจีนขยายตัวเพียง 2.5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อเศรษฐกิจของประเทศมหาอำนาจอย่างจีนหยุดชะงัก ย่อมส่งผลต่อการลงทุนและการนำเข้าส่งออกสินค้ากับประเทศธุรกิจชะลอตัวตามไปด้วย และแม้ปัจจุบันจีนยังคงมาตรการ Covid – 19 เป็นศูนย์ แต่ถึงอย่างนั้นนักลงทุนไทยต่างคาดการณ์ว่าช่วงปลายปี 2022 จีนน่าจะเปิดประเทศเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจีนอีกครั้ง

นอกจากมาตรการ Covid – 19 เป็นศูนย์ จะส่งผลให้เศรษฐกิจโลกค่อนข้างซบเซาแล้ว อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญด้านเศรษฐกิจของปี 2022 คือการสู้รบระหว่างรัสเซียและยูเครน โดยสงครามครั้งนี้ไม่ได้ส่งผลแค่เศรษฐกิจของสองประเทศเท่านั้น เพราะยังส่งผลกระทบวงกว้าง โดยเฉพาะปัญหาเงินเฟ้อโลก เนื่องจากอีกหนึ่งประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกามีมาตรการคุมเข้มนโยบายทางการเงินจนอาจนำมาสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยนั่นเอง

นอกจากนี้ ปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ยังทำให้หลายชาติตะวันตกคว่ำบาตรรัสเซียเพื่อต่อต้านการใช้ความรุนแรงด้วยการตัดธนาคารรัสเซียออกจากเครือข่ายสมาคมโทรคมนาคมทางการเงินโลก การทำธุรกรรมการเงินในรัสเซียจึงเกิดปัญหา และสงครามที่ยืดเยื้อยังทำให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงทำสถิติใหม่ ส่งผลให้ทั่วโลกเผชิญปัญหาภาวะเงินเฟ้อ และแม้ว่าในอนาคตความขัดแย้งอาจสงบลง แต่สถานการณ์เศรษฐกิจโลกอาจไม่ได้ดีขึ้นตามไปด้วย เพราะมาตรการคว่ำบาตรยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนทำให้เศรษฐกิจโลกยังคงซบเซาในระยะยาวนั่นเอง

เมื่อมาตรการ Covid – 19 เป็นศูนย์ของมหาอำนาจอย่างจีน รวมถึงสงครามระหว่างยูเครนและรัสเซียยังคงดำเนินอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นเหตุผลว่าเพราะอะไรเศรษฐกิจโลกจึงชะงักและค่อนข้างสั่นคลอนในช่วงนี้ รวมถึงเศรษฐกิจไทยเองที่มีปัญหาการนำเข้า การส่งออก รวมถึงการลงทุนกับประเทศเหล่านี้เช่นกัน นั่นทำให้ทิศทางเศรษฐกิจโลกในปี 2022 ยังเป็นเรื่องน่าสนใจที่ต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิด

จับตาเศรษฐกิจโลกในยุคที่ จีน – รัสเซีย – ยูเครน เป็นตัวแปรในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ