จับตาทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก หลังโควิด-19 ผ่านพ้นไป

ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 หนักหนาสาหัสเกินกว่าจะเยียวยาได้ในระยะเวลาอันสั้น และตราบใดที่ยังไม่มีวัคซีนเพื่อป้องกันและรักษาโรคนี้อย่างได้ผล เราชาวโลกคงใช้ชีวิตด้วยความหวั่นวิตก ภายใต้เงื่อนไขของชีวิตวิถีใหม่กันอีกยาวนานเลยทีเดียว แต่ไม่นานมานี้หลายประเทศก็ได้ผนึกกำลังความร่วมมือกันในทุก ๆ ด้านเพื่อให้เกิดวัคซีนและแนวทางการเยียวยาฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจและวิถีชีวิตของผู้คนให้กลับคืนมาอย่างปกติสุข ซึ่งหลายองค์กรระดับโลกได้ออกมาเคลื่อนไหวและวิเคราะห์ทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก หลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ผ่านพ้นไปดังนี้

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ (IMF) คาดการณ์ว่าภายในปีนี้ เศรษฐกิจโลกจะหดตัวลงถึง 3 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งนับเป็นภาวะย่ำแย่ที่สุดนับตั้งแต่สถานการณ์เศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ ในช่วงทศวรรษ 1930 โดยกองทุนไอเอ็มเอฟคาดว่าผลกระทบอย่างหนักจะเกิดขึ้นในไตรมาสที่ 2 ของปี ค.ศ. 2020 และจะเริ่มฟื้นตัวในครึ่งปีหลัง เมื่อมาตรการล็อกดาวน์ถูกผ่อนคลาย ด้านธนาคารโลกได้วิเคราะห์ถึงผลกระทบอย่างหนักต่อเศรษฐกิจโลก ที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการค้าระหว่างประเทศ การท่องเที่ยว และบริการ ส่วนทิศทางการฟื้นตัวในแบบที่นักเศรษฐศาสตร์อธิบายโดยใช้ตัวอักษรตัว V, U, W หรือตัว L เป็นต้นแบบมีความน่าสนใจดังนี้

  1. การฟื้นตัวเป็นรูปตัว V จะเป็นการฟื้นตัวที่ดีที่สุด เพราะนั่นหมายถึงทิศทางของเศรษฐกิจที่ตกต่ำจนถึงจุดต่ำสุด แล้วจะทะยานพุ่งขึ้นอย่างทันที อาจเกิดขึ้นในกรณีที่แต่ละประเทศและในภาพรวมสามารถปลอดล็อกดาวน์ภายหลังที่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น สามารถคิดค้นวัคซีนหรือแนวทางการรักษาโรคได้สำเร็จ เราอาจจะเห็นการถดถอยของเศรษฐกิจในรูปตัว V ซึ่งเศรษฐกิจจะกลับคืนสู่ภาวะปกติอย่างรวดเร็ว
  2. การฟื้นตัวรูปตัว U เป็นรูปแบบการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่มีการพูดถึงมากที่สุด โดยจะค่อย ๆ ฟื้นตัวอย่างช้า ๆ ใช้ระยะเวลาประมาณ 2 – 3 ปีกว่าเศรษฐกิจจะกลับไปเติบโตอย่างชัดเจน เป็นการฟื้นตัวแบบแอ่งก้นกระทะ คาดว่าหากเศรษฐกิจในปีนี้หดตัวลง 2.4 เปอร์เซ็นต์ และหลังคลายล็อกดาวน์มีอัตราการเติบโตถึง 5.9 เปอร์เซ็นต์ภายในปีค.ศ. 2021 ก็อาจจะทำให้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวเป็นรูปตัว U ตามแนวโน้มการเติบโตและฟื้นตัวของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมที่ชลอตัว เนื่องจากได้รับความเสียหายอย่างหนักในช่วงที่ผ่านมา
  3. การฟื้นตัวเป็นรูปตัว W เป็นรูปแบบการฟื้นตัวที่เต็มไปด้วยอุปสรรคและความยากลำบาก หากวัคซีนยังไม่สำเร็จ หรือยังไม่สามารถหาวิธีรักษาโรคโควิด-19 ได้ ในขณะที่รัฐบาลรีบปลดล็อกมาตรการป้องกันต่าง ๆ และเปิดให้ธุรกิจกลับมาดำเนินการอย่างเต็มรูปแบบโดยรวดเร็ว อาจเกิดการแพร่ระบาดเป็นระลอกที่ 2 ทำให้เศรษฐกิจได้รับผลกระทบอย่างหนักอีกครั้ง
  4. การฟื้นตัวเป็นรูปตัว L เป็นรูปแบบการฟื้นตัวแบบ นิว นอร์มอล หรือความปกติแบบใหม่ เศรษฐกิจหลังการปลดล็อกดาวน์จะฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดไม่มากเท่าไรนัก อุปสรรคสำคัญคือ คือความล่าช้าของการคิดค้นวัคซีนเพื่อการรักษา อาจทำให้เศรษฐกิจตกต่ำยาวนานมากขึ้น

สำหรับมุมมองเศรษฐกิจไทยจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา คาดว่าเศรษฐกิจของประเทศไทยโดยรวมจะฟื้นตัวในรูปแบบตัว U ซึ่งต้องใช้เวลาประมาณ 2 ปีครึ่งเป็นอย่างน้อย โดยภาคธุรกิจต่าง ๆ จะเริ่มปรับตัวรับเทรนด์ใหม่ ๆ มากขึ้นภายในปี 2564 โดยธุรกิจที่ไม่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคจะฟื้นตัวได้เร็วกว่าธุรกิจประเภทอื่น แต่ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค อาจต้องใช้เวลาในการปรับตัวที่ยาวนานยิ่งกว่า

แม้ว่าเศรษฐกิจของประเทศไทยหรือทั่วโลกจะจะฟื้นตัวแบบ V หรือ U แต่ก็ยากที่จะกลับไปเหมือนเดิมได้อีก เพราะมีปัจจัยแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ที่เห็นได้ชัดในขณะนี้คือ ภาคการท่องเที่ยว ร้านอาหาร กีฬา บันเทิง การบริการ ซึ่งจะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่มายังธุรกิจภาคส่วนอื่น ๆ ได้ในที่สุด

จับตาทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก หลังโควิด-19 ผ่านพ้นไป