ติดตามเศรษฐกิจโลก โกโก้ พืชเศรษฐกิจตัวใหม่ที่น่าจับตามอง

โกโก้ พืชสารพัดประโยชน์ที่กำลังจะกลายเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ของประเทศไทย เป็นกระแสข่าวที่ได้รับความสนใอย่างมากจากบรรดาเกษตรกรและกลุ่มอุตสาหกรรม ด้วยคุณประโยชน์และมูลค่าการตลาดที่ดึงดูดใจ ประกอบกับหน่วยงานภาครัฐให้การสนับสนุนเกษตรกรทำการผลิตเพื่อส่งออกในอุตสาหกรรมช็อกโกแลต ตลอดจนแผนการผลิตโกโก้เพื่อทดแทนการทำสวนยางพาราที่ให้น้ำยางน้อย เมื่อพิจารณาความต้องการผลผลิตโกโก้ในระดับเศรษฐกิจโลก เห็นว่ามีความต้องการสูงขึ้นทั้งในตลาดต่างประเทศและในประเทศ แต่จะมีความเป็นไปได้หรือไม่ เราไปหาคำตอบพร้อม ๆ กัน

ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่เพาะปลูกโกโก้อยู่ทั่วประเทศ จำนวน 5,464.39 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่เก็บเกี่ยวแล้วจำนวน 4,090.66 ไร่และอยู่ระหว่างการเพาะปลูกอีก 1,373.73 ไร่ โดยพื้นที่เพาะปลูกจำนวน 3,957.59 ไร่ ส่วนใหญ่อยู่ทางภาคเหนือในแถบจังหวัดเชียงราย ลำปาง น่าน และ จังหวัดตาก ส่วนพื้นที่เพาะปลูกในภาคตะวันออกจำนวน 586.48 ไร่ ส่วนมากอยู่ในจังหวัดจันทบุรี

ล่าสุดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้วางแผนศึกษาข้อมูลด้านการตลาดทั้งในและต่างประเทศ เพื่อการส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่เหมาะสมทดลองเพาะปลูกโกโก้แซมในพื้นที่สวนยางที่ให้ปริมาณน้ำยางน้อยเพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรที่ประสบปัญหายางพาราราคาตกต่ำ ซึ่งนักวิชาการเกษตรมองว่าการปลูกโกโก้สามารถทำได้จริงภายใต้การวางแผนเพาะปลูกในพื้นที่ที่เหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค โดยมีแผนการตลาดรองรับเป้าหมายในเชิงอุตสาหกรรมแปรรูปโกโก้ซึ่งเน้นที่ปริมาณและคุณภาพ ข้อมูลจากบริษัทผู้ผลิตช็อกโกแลต ระบุว่าคนไทยมีความต้องการบริโภคช็อคโกแลตเฉลี่ยอยู่ที่ 120 กรัมต่อคนต่อปี ซึ่งเมื่อเทียบกับชาวเบลเยียมที่บริโภคช็อกโกแลต 8 กิโลกรัมต่อคนต่อปี จึงนับได้ว่าโอกาสขยายตัวทางการตลาดและการเพาะปลูกมีแนวโน้มที่สูงขึ้น

ข้อมูลจากศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยระบุว่า แม้อาเซียนจะไม่ใช่ผู้ผลิตรายใหญ่ของโลก แต่ด้วยกำลังการผลิตจากหลายประเทศ เช่น ไทย มาเลเซีย ฟิลิปฟินส์ และเวียดนาม โดยเฉพาะอินโดนีเซีย ที่มีกำลังการผลิตสูงถึง 72% ทำให้โกโก้กลายเป็นพืชเศรษฐกิจอีกอย่างหนึ่งของอาเซียนไปโดยปริยาย

จากสภาพเศรษฐกิจโลก แนวโน้มการเติบโตความต้องการโกโก้ในปี 2563 ตามการคาดการณ์ของ International Cocoa Organization พบว่ามีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่องในอีก 3 ปีข้างหน้า ซึ่งคาดว่าปริมาณความต้องการโกโก้ทั่วโลกจะอยู่ที่ 44.7 ล้านตัน โดยผลจากการประเมินสภาวะตลาดทั้งในประเทศและตลาดโลก พบว่าความต้องการผลผลิตโกโก้เพิ่มขึ้น โดยมีการนำเข้าโกโก้มูลค่า 1,761 ล้านบาท ในปี 2560 อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม มีการปรับเปลี่ยนจำนวนการผลิตเหลือ 2.9 แสนตัน พร้อมทั้งปรับขึ้นภาษีส่งออกเมล็ดโกโก้อีก 15% โดยมุ่งเน้นการส่งออกผลิตภัณฑ์แปรรูปที่มีมูลค่าสูง และส่งเสริมอุตสาหกรรมช็อกโกแลตมากขึ้น

สำหรับประเทศไทย หากมีการสนับสนุนและส่งเสริมการผลิตอย่างจริงจัง รัฐบาลจำเป็นต้องตั้งคณะกรรมการโกโก้ แห่งชาติ (Thailand Cocoa Board) เพื่อรวบรวมข้อมูลโกโก้ทั้งหมดให้เป็นระบบ สามารถควบคุมมาตรฐานได้แก่ การคัดเลือกสายพันธุ์ การควบคุมคุณภาพของผลผลิต พร้อมทั้งจัดทำแผนโปรโมททั้งระยะสั้นและระยะยาวอย่างครบวงจร เช่น เทศกาลช็อกโกแลตแบรนด์ไทย เป็นต้น

แม้ว่าโกโก้โกโก้จะถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องสำอาง ส่งผลให้ราคารับซื้อโกโก้ปรับตัวสูงขึ้น ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่า โกโก้สามารถเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีอนาคตของไทยได้ แม้ว่าปัจจุบันประเทศไทยจะสามารถผลิตได้เพียงไม่กี่ร้อยตันเท่านั้น แต่ในอนาคตการปลูกโกโก้จะเริ่มเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้นในพื้นที่เพาะปลูกทั้ง 47 จังหวัดทั่วประเทศ

ติดตามเศรษฐกิจโลก โกโก้ พืชเศรษฐกิจตัวใหม่ที่น่าจับตามอง